ส่งผลงานเข้ารับการพิจารณา

English   |  ภาษาไทย

งานสัมมนาวิชาการนานาชาติ FabLearn Asia 2020 (แฟบเลินเอเชีย 2020) ขอเชิญชวนท่านที่สนใจ ร่วมส่งบทความและผลงานทางวิชาการ เพื่อนำเสนอในงานสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 – 12 มกราคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

FabLearn Asia 2020 เป็นงานสัมมนาวิชาการนานาชาติระดับภูมิภาคในเครือข่ายงานสัมมนา FabLearn จัดขึ้นเป็นครั้งที่สองโดยประเทศไทยได้รับเชิญให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ต่อจาก FabLearn Asia 2015 ที่ประเทศญี่ปุ่น แนวคิดหลัก (Theme) ของงานสัมมนาในครั้งนี้ คือ “ความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Diversity)” ซึ่งหมายถึง การระดมแนวคิดและประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนรู้ผ่านการประดิษฐ์ (Maker Education) ในบริบททางสังคมวัฒนธรรม เชื้อชาติ ค่านิยม และความคาดหวังที่หลากหลาย อันจะทำให้เกิดการเรียนรู้และการสร้างสรรค์คุณค่าที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิสังคม

(หมายเหตุ: เนื้อหาในบทความหรือผลงานทางวิชาการของท่าน ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับแนวคิดหลักของงาน)

ชุดงานสัมมนาวิชาการ FabLearn จัดขึ้นเพื่อรวบรวมนักการศึกษา ผู้ที่ทำงานในระดับนโยบาย นักออกแบบ นักวิจัย ตลอดจนครูและนักเรียนในระดับโรงเรียน ที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ผ่านการประดิษฐ์ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการประดิษฐ์เชิงดิจิทัล (digital fabrication) วัฒนธรรมนักประดิษฐ์ (maker culture) การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ, การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) รวมถึงการเรียนรู้ผ่านการสร้างประสบการณ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ ท่านที่สนใจร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังกล่าว สามารถส่งบทความเข้ารับการพิจารณาร่วมนำเสนอผลงานอื่นได้ ตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังนี้ :

รูปแบบบทความและผลงานทางวิชาการ

  1. บทความวิจัยฉบับเต็มและฉบับย่อ (full and short papers) สำหรับนักวิจัย (ภาษาอังกฤษเท่านั้น)
  2. บทความสำหรับนักการศึกษา อาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย หรือครูในระดับโรงเรียน เนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำงานด้านการศึกษา หลักสูตร กิจกรรม แนวทางการจัดการเรียนรู้ หรือวิสัยทัศน์ทางด้านการศึกษา (ภาษาไทย*หรือภาษาอังกฤษก็ได้)
  3. ผลงานการประดิษฐ์และกระบวนการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาหรือระดับมัธยมศึกษา (ภาษาไทย*หรือภาษาอังกฤษก็ได้)
  4. การนำเสนอเครื่องมือ ทักษะ หรือกลวิธีใหม่ๆ ในการจัดการเรียนรู้ ด้วยรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ระยะเวลาไม่เกิน 100 นาที (ภาษาอังกฤษเท่านั้น)
  5. การสาธิตผลงานด้านเทคโนโลยีหรือกระบวนการเรียนรู้ เช่น โครงการ หลักสูตร เครื่องมือ ซอฟท์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ในการเรียนรู้ผ่านการประดิษฐ์ (ภาษาอังกฤษเท่านั้น)

*สำหรับบทความและผลงานภาษาไทย จะมีคณะกรรมการคัดกรองผลงานภาษาไทยซึ่งใช้เกณฑ์มาตรฐานในการคัดเลือกเช่นเดียวกับผลงานภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ บทความและผลงานทุกประเภทจะต้องเป็นไปตามลักษณะ (format) ที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ เพื่อรักษามาตรฐานในการประเมิน

กำหนดการส่งบทความและผลงานทางวิชาการ : ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 23:59 น. (ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย) โดยผลการคัดเลือกจะประกาศให้ทราบภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 และการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นข้อยุติ

ตัวอย่างเอกสารวิชาการ Educator Submissions และ Student Submissions
เป็นตัวอย่างผลงานที่ได้รับคัดเลือกไปนำเสนอในงาน FabLearn 2019 (เป็นภาษาอังกฤษ)

กำหนดการลงทะเบียน

ท่านสามารถลงทะเบียนในราคาพิเศษ (Early bird) ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 15 ธันวาคม 2562

All submissions are due by November 4, 2019, by 11:59 pm (GMT+7). Decisions will be sent in November.

Contact information to FabLearn Asia 2020 Academic Chairs, please email to : asia2020-academic@fablearn.global

ช่องทางการส่งบทความและผลงานทางวิชาการ

ขณะนี้หมดเขตรับบทความแล้ว

ท่านสามารถส่งไฟล์งานตามรายละเอียดที่กำหนด ผ่านทาง https://easychair.org/conferences/?conf=fablearn-asia2020

รายละเอียดบทความและผลงานทางวิชาการที่เปิดรับ

บทความวิจัย (ฉบับเต็ม)

บทความวิจัย (ฉบับย่อ)

บทความสำหรับนักการศึกษา อาจารย์ หรือครู

การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)

ผลงานการประดิษฐ์และกระบวนการเรียนรู้ สำหรับนักเรียน

การสาธิตผลงานด้านเทคโนโลยีหรือกระบวนการเรียนรู้

เปิดรับเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น

เป็นบทความวิจัยฉบับเต็มของโครงการที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน หรือโครงการที่มีแผนดำเนินการในอนาคต โดยมีขอบเขตเนื้อหาเกี่ยวกับการประดิษฐ์เชิงดิจิทัล (digital fabrication) การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติเชิงวิศวกรรม (hands-on science and engineering) และการประดิษฐ์ในบริบทการเรียนรู้ต่างๆ

บทความวิจัยที่จะได้รับการพิจารณา ต้องเป็นงานวิจัยฉบับเต็มและมาจากความคิดริเริ่มของผู้เขียนซึ่งยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน

เนื้อหาของบทความจะต้องมีการทบทวนวรรณกรรม (literature review) และอ้างอิงถึงงานวิชาการที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน อีกทั้งต้องอภิปรายประเด็นที่งานวิจัยได้พัฒนามาจากวรรณกรรมที่อ้างอิงถึงให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องชี้ให้เห็นความสำคัญหรือนัยยะที่มีต่อการประดิษฐ์เชิงดิจิทัล นักประดิษฐ์ และชุมชนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ

รูปแบบของบทความ

  • มีความยาวไม่เกิน 8 หน้ากระดาษ A4 ขนาดตัวอักษร 16 พ้อยท์
  • ตัวอย่างบทความ โปรดดู (www.acm.org/publications/proceedings-template)
  • ส่งเป็นไฟล์ pdf ผ่านระบบ EasyChair ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 23:59 น. (ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย)

รูปแบบการนำเสนอบทความ (สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก)

การนำเสนอบนเวที (Research Panel)

เปิดรับเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น

เป็นบทความวิจัยฉบับย่อของโครงการที่กำลังดำเนินการในปัจจุบัน หรือโครงการที่มีแผนดำเนินการในอนาคต โดยมีขอบเขตเนื้อหาเกี่ยวกับการประดิษฐ์เชิงดิจิทัล (digital fabrication) การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติเชิงวิศวกรรม (hands-on science and engineering) และการประดิษฐ์ในบริบทการเรียนรู้ต่างๆ

บทความวิจัยฉบับย่อที่จะได้รับการพิจารณา ต้องมาจากความคิดริเริ่มของผู้เขียนและยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน โดยผู้เขียนจะต้องแสดงให้เห็นกระบวนการทำงานและผลการวิจัยซึ่งสะท้อนนวัตกรรมทางความคิดอย่างชัดเจน ทั้งนี้ คณะกรรมการยินดีรับพิจารณาโครงการวิจัยที่ยังไม่สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และผลการวิจัยที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น (preliminary results) ซึ่งดำเนินการโดยนักวิชาการ นักวิจัยรุ่นเยาว์ และนักออกแบบการเรียนรู้

บทความวิจัยฉบับย่อไม่จำเป็นต้องมีการทบทวนวรรณกรรม (literature review) เช่นเดียวกับบทความวิจัยฉบับเต็ม แต่ต้องอภิปรายวิธีการวิเคราะห์วิจัยและผลการวิจัยให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องชี้ให้เห็นความสำคัญหรือนัยยะที่มีต่อการประดิษฐ์เชิงดิจิทัล นักประดิษฐ์ และชุมชนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ

ผู้เขียนบทความจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมในช่วง “Madness” ซึ่งจะเป็นการปริทัศน์บทความวิจัยของตนเองในระยะเวลาอันสั้น และหลังจากนั้นจะได้ร่วมแสดงโปสเตอร์โครงการวิจัย ซึ่งจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าร่วมงานท่านอื่น

While adherence to the conference theme is not mandatory, it is highly recommended.

รูปแบบของบทความ

  • มีความยาวไม่เกิน 4 หน้ากระดาษ A4 ขนาดตัวอักษร 16 พ้อยท์
  • ตัวอย่างบทความ โปรดดู (www.acm.org/publications/proceedings-template)
  • ส่งเป็นไฟล์ pdf ผ่านระบบ EasyChair ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 23:59 น. (ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย)

รูปแบบการนำเสนอบทความ (สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก)

  1. การนำเสนอโปสเตอร์รายบุคคล ใช้เวลาบทความละ 1 – 3 นาที
  2. การแสดงโปสเตอร์ โดยจัดเป็นกลุ่มๆ ละ 5 – 10 บทความ ซึ่งจะมีการถาม-ตอบผู้เข้าร่วมงานที่สนใจ

บทความสำหรับนักการศึกษา อาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย หรือครูในระดับโรงเรียน

เปิดรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

เป็นบทความของครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา วิทยากร หรือนักอำนวยการเรียนรู้ (facilitator) ที่ทำงานด้านการเรียนการสอนหรือการจัดการเรียนรู้

อาจอยู่ในรูปแบบของบทความที่สะท้อนประสบการณ์ (reflection) จากการทำงานในห้องเรียนหรือการจัดกิจกรรมในองค์กรของท่าน (เช่น การจัดกิจกรรมในโรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ ค่ายส่งเสริมการเรียนรู้ ฯลฯ) โดยขอให้ท่านระบุอย่างชัดเจนว่า ประสบการณ์การเรียนรู้นั้นเป็นการเรียนรู้ในโรงเรียนหรือการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และอธิบายประสบการณ์ของท่านว่าเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ การประดิษฐ์ การใช้ห้อง FabLab หรือการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างไร รวมทั้งบรรยายสิ่งที่ท่านคิดว่านักการศึกษาท่านอื่นๆ จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของท่านด้วย

ผลงานในกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่ในรูปแบบบทความทางวิชาการอย่างเคร่งครัด ผลงานของท่านสามารถอยู่ในรูปแบบรายงาน บันทึกการทำงาน หรือบันทึกประสบการณ์จริง

หากผลงานของท่านมีเนื้อหาเกี่ยวข้องโดยตรงกับแนวคิดหลักของงาน จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษจากคณะกรรมการ และขอให้ท่านอธิบายว่าเนื้อหาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดหลักของงานอย่างไร (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ….) 

รูปแบบของบทความ

  • มีความยาวไม่เกิน 4 หน้ากระดาษ A4 ขนาดตัวอักษร 16 พ้อยท์
  • ตัวอย่างบทความ โปรดดูที่นี่
  • ส่งเป็นไฟล์ pdf ผ่านระบบ EasyChair ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 23:59 น.

รูปแบบการนำเสนอบทความ (สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก)

  • การนำเสนอบนเวที (Panel) อาจมีการพูดคุยและการตอบคำถามของผู้เข้าร่วมงานท่านอื่นๆ
  • การนำเสนอในกลุ่มย่อย (Round Table)

เปิดรับเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น

นักการศึกษาหรือนักออกแบบการเรียนรู้สามารถนำเสนอกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ การประดิษฐ์เชิงดิจิทัล อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ ตลอดจนกลวิธีการจัดการเรียนรู้ ในบริบทห้องเรียน พิพิธภัณฑ์ หรือพื้นที่การเรียนรู้ลักษณะต่างๆ ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 100 นาที

ผลงานในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับแนวคิดหลักของงาน แต่หากผลงานของท่านมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับแนวคิดหลักของงาน จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษจากคณะกรรมการ และขอให้ท่านอธิบายว่าเนื้อหาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดหลักของงานอย่างไร

รูปแบบของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ

  • ใช้เวลาไม่เกิน 100 นาที
  • เอกสารการจัดอบรม มีความยาวไม่เกิน 1,000 ตัวอักษร และมีรูปภาพไม่เกิน 4 รูป โดยอาจระบุลิ้งค์คลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย
  • เนื้อหาของเอกสารการจัดอบรม ประกอบด้วย
    • หัวข้อและบทคัดย่อ
    • ประวัติโดยย่อของผู้จัดอบรม
    • คำอธิบายขอบเขตเนื้อหาการอบรมและผลที่คาดว่าจะได้รับ
    • ความสำคัญนัยยะที่มีต่อการประดิษฐ์เชิงดิจิทัล นักประดิษฐ์ และชุมชนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ
    • จำนวนผู้เข้าร่วมที่รับได้ และอุปกรณ์/พื้นที่/การจัดส่งที่ต้องการใช้ในการอบรม
  • ตัวอย่างเอกสาร โปรดดู https://bit.ly/FL2019-WorkshopTemplate
  • ส่งเป็นไฟล์ pdf ผ่านระบบ EasyChair ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 23:59 น. (เวลามาตรฐานประเทศไทย)

ผลงานการประดิษฐ์และกระบวนการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาหรือระดับมัธยมศึกษา (Student Showcase)

เปิดรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

นักเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาสามารถส่งรายงานหรือบทความเกี่ยวกับการเรียนรู้ของตนเองจากประสบการณ์ด้านการประดิษฐ์ หรือประสบการณ์ในรูปแบบอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมงานสัมมนา

คณะกรรมการยินดีเปิดรับโครงงานที่ยังไม่สำเร็จ ไม่สมบูรณ์ หรือมีข้อผิดพลาดซึ่งก่อให้เกิดประสบการณ์ที่น่าสนใจและน่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนนักประดิษฐ์

นักเรียนที่ต้องการนำเสนอผลงานในกลุ่มนี้ ขอให้ใช้โครงงานที่สามารถนำเสนอหรือแสดงได้ภายในงาน โดยบทความที่ส่งเข้ารับการพิจารณา อาจมีเนื้อหาเป็นการบันทึกประสบการณ์ ขั้นตอนการทำโครงงาน การวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำโครงงาน หรือเรื่องราวน่าสนใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงงาน ทั้งนี้ ครูหรือนักการศึกษาที่รู้จักนักเรียนที่มีผลงานหรือประสบการณ์ที่น่าสนใจดังกล่าว สามารถชักชวนนักเรียนของท่านให้ส่งผลงานมาได้

รูปแบบของเอกสารประกอบการนำเสนอผลงาน

  • มีความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 โดยอาจมีรูปภาพประกอบ คำอธิบาย หรือลิงค์คลิปวิดีโอที่นักเรียนจะใช้ช่วยในการเล่าเรื่อง
  • ตัวอย่างรูปแบบเอกสาร โปรดดูที่นี่
  • ส่งเป็นไฟล์ pdf ผ่านระบบ EasyChair ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 23:59 น. (เวลามาตรฐานประเทศไทย)

รูปแบบการนำเสนอผลงาน (สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก)

  • การนำเสนอบนเวที (Student Panel) จำนวน 6 คน เป็นเวลาคนละ 5 นาที
  • การนำเสนอโปสเตอร์และการสาธิตโครงงานในรูปแบบนิทรรศการ (Poster/Demo)

เปิดรับเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น

นักพัฒนา ผู้ประกอบการ และนักการศึกษา สามารถจัดแสดงการสาธิตนวัตกรรมด้านการประดิษฐ์เชิงดิจิทัล ช่องทางใหม่ในการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ชุดเครื่องมือการประดิษฐ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ตลอดจนโครงงานของนักเรียน ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจต้องส่งรายละเอียดของผลงาน/สิ่งประดิษฐ์ของท่าน และพื้นที่/อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการสาธิตผลงาน รวมถึงต้องอธิบายให้เห็นความสำคัญหรือนัยยะที่มีต่อการประดิษฐ์เชิงดิจิทัล นักประดิษฐ์ และชุมชนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ

รูปแบบของเอกสารประกอบการนำเสนอผลงาน

  • มีความยาวไม่เกิน 4 หน้ากระดาษ A4 โดยอาจมีรูปภาพประกอบ คำอธิบาย หรือลิงค์คลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้อง
  • ตัวอย่างเอกสาร โปรดดู https://bit.ly/FL2019-DemoTemplate
  • ส่งเป็นไฟล์ pdf ผ่านระบบ EasyChair ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 23:59 น. (เวลามาตรฐานประเทศไทย)

รูปแบบการนำเสนอผลงาน (สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก)

  • การนำเสนอโปสเตอร์และการสาธิตผลงาน (Poster/Demo)